การดูแลรักษากระต่ายป่วยและโรคต่างๆ

การดูแลรักษากระต่ายป่วยและโรคต่างๆ
การดูแลรักษากระต่ายป่วย
โรคภัยที่กระต่ายมักจะประสบกันมากต่าง ๆ และวิธีแก้ไขเบื้องต้น1. โรคท้องเสีย สาเหตุของกระต่ายท้องเสียมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากที่พบก็คือ จากการกิน ในบางครั้งเจ้าของกระต่าย หาอาหารหรือนำผักผลไม้ที่อวบน้ำให้กระต่ายกินเป็นจำนวนมาก ๆ เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา บางครั้งให้กินเป็นจำนวนหลาย ๆ ลูก ซึ่งทำให้กระต่ายมีน้ำในท้องเยอะ ส่งผลให้กระต่ายท้องขึ้นและท้องเสีย และการดื่มน้ำดื่มไม่สะอาดพอ ตลอดจนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย จากอากาศหนาวเย็นไปสู่อากาศร้อนฉับพลัน จะส่งผลให้กระต่ายถ่ายเหลว

– ลักษณะของอาการท้องเสีย กระต่ายจะนอนหมอบแบบหมดแรง และถ่ายเป็นน้ำ หรือในระยะแรกอึกระต่ายจะไม่ค่อยปั้นก้อนแข็งตัว เมื่อจับดูหรือกดก็จะพบว่า อึกระต่ายนิ่มมาก ๆ ถ้าเป็นอาการเริ่มต้นดังกล่าว ให้รีบนำผงเกลือแร่ชนิดซองที่ผสมให้คนดื่ม ผสมน้ำให้กระต่ายดื่ม เพราะกระต่ายจะเริ่มเสียน้ำมาก ๆ ทำให้กระต่ายอ่อนเพลีย และหยุดให้อาหารเม็ดทั้งสิ้น วางไว้เฉพาะหญ้าสดเท่านั้น และรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

– วิธีการรักษาแพทย์จะฉีดยาฆ่าเชื้อ และให้วิตามิน พร้อมกับยาฆ่าเชื้อมาให้ เจ้าของกระต่ายป้อนในปริมาณที่แพทย์กำหนด เช้า – เย็น (หรืออื่น ๆ ตามวินิจฉัยของแพทย์)

2. โรคท้องอืด สาเหตุ เกิดจากการที่อาหารของกระต่ายกินเข้าไปแล้วกระต่ายไม่ถ่ายออกมา จนทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน จากอากาศร้อนจัด ๆ ไปอากาศหนาว จะทำให้ลักษณะของลำไส้และกระเพาะของกระต่าย หดรัดตัวไม่ย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องอืด

– ลักษณะอาการ กระต่ายที่มีอาการท้องอืด จะนอนนิ่ง ๆ ไม่ถ่าย นิ่งซึม ลักษณะคล้าย ๆ อาการของโรค Hair ball และไม่ยอมกินอะไร เมื่อจับบริเวณลำตัวจะพบว่า ท้องแข็ง และตัวพองกลม และตามลำตัวจะมีลักษณะสีเขียว ถ้าพบอาการลักษณะนี้ ให้พยายามเอาผงเกลือแร่ ผสมน้ำป้อนกระต่าย และรีบนำส่งแพทย์ด่วน

– วิธีการรักษาแพทย์จะทำการ ส่งเอ็กซ์เรย์ และฉีดยาฆ่าเชื้อ สวนทวารของกระต่าย ให้น้ำเกลือ และสังเกตการณ์หากเป็นมากก็อาจจะต้องรับตัวไว้ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล อ่านเรื่องประกอบ จากลิงค์ อาการท้องอืดของต่อลาภ

3. โรคเชื้อรา สาเหตุเกิดจากความอับชื้น จากบริเวณที่เลี้ยง หรือ เชื้อที่ลอยมาตามอากาศ

– ลักษณะอาการจะมีอาการขนร่วง มากผิดปกติแบบไร้สาเหตุ หรือในบางตัวจะมีความเปียกชื้นบริเวณขนของกระต่ายที่มีขนยาว และมีสีเขียวเข้ม ๆ เป็นต้น กระต่ายจะเกา และถ้าร่วงมาก ๆ จนไม่มีขนบริเวณนั้น อาจจะส่งผลให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้ออื่นตามมาได้ ให้รีบนำส่งแพทย์

– การรักษา แพทย์จะทำการขูดบริเวณที่มีปัญหาขนร่วง หรือบริเวณที่มีสีเขียว บนขนกระต่าย ไปตรวจ หากเป็นเชื้อรา แพทย์จะให้ยากลุ่ม คีโตคูนาโซล ไม่ว่าจะเป็นแชมพู หรือ ครีม ให้ปฏิบัติตามแพทย์สั่ง เพราะอาการของเชื้อรา เป็นการรักษาที่ต้องใช้การดูแลต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นอาจจะต้องใช้ความอดทนเล็กน้อย

4. โรคกลาก เรื้อน สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ และการอักเสบ หรือติดเชื้อที่ลอยมาตามกระแสลมและมาเกาะบริเวณตัวกระต่าย และหรือในบางทฤษฎี บอกว่าเกิดจากพยาธิในตัวกระต่าย ที่แย่งอาหารต่าง ๆ ไปจนทำให้กระต่ายขาดสารอาหารและเป็นแผลตกสะเก็ด (ไม่ขอยืนยัน)

– ลักษณะอาการบริเวณใบหู จมูก หรือ เท้า จะมีลักษณะของการเป็นแผลตกสะเก็ด และกระต่ายจะเกาและคันมาก หากปล่อยไว้นาน ๆ อาการตกสะเก็ดจะลุกลามไปเรื่อย ๆ อาจจะส่งผลให้กระต่ายเสียชีวิตในเวลาต่อมา (อาการดังกล่าวคล้าย ๆ ขี้เรื้อนในสุนัข)

– การรักษา แพทย์จะทำการวินิจฉัยเชื้อ และให้ครีมมาทา เช้า – เย็น และให้ยาฆ่าเชื้อมาป้อนประกอบกันเช้าและเย็น ต้องหมั่นและขยันทาครีม ตลอดจนป้อนยาอย่างต่อเนื่อง และแผลตกสะเก็ดจะแห้ง และเมื่อแผลแห้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริเวณผิวหนังของกระต่ายบริเวณที่เป็นกลากหรือเรื้อน จะค่อย ๆ มีขนเข้าปกคลุมแต่อาจต้องใช้เวลาสักระยะ

5. Hair Ball สาเหตุเกิดจากการที่กระต่าย เลียขน (แต่งตัว) เข้าไปเป็นระยะเวลานาน ๆ แล้วไปสะสมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการอุดตันในระบบทางเดินอาหารไม่ว่าจะเป็นบริเวณกระเพาะอาหารหรือบริเวณลำไส้ ทำให้กระต่ายไม่ถ่ายหรือถ่ายออกมาเป็นปริมาณที่น้อยมาก ๆ Hair Ball เป็นโรคที่พบได้ในกระต่ายทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นขนสั้นหรือขนยาว

– ลักษณะอาการ ที่ควรหมั่นสังเกตุ อาการเบื้องต้นของกระต่ายที่มีลักษณะของโรคแฮร์บอล ให้สังเกตุที่อึของกระต่าย หากอึมีลักษณะของเส้นขนที่ร้อยอึออกมาด้วยลักษณะคล้าย ๆ สร้อยมุก ให้สันนิษฐานว่ากระต่ายมีอาการของโรคแฮร์บอล

– วิธีการรักษาเบื้องต้น ให้หาเจล Laxatone มาป้อนให้กระต่ายกิน ส่วนที่พอเหมาะ ประมาณ 1 CC ต่อ 1 กิโลกรัม หรืออาจจะมากกว่านั้นเล็กน้อย ป้อนเช้าและเย็น และสังเกตอาการว่ากระต่ายถ่ายออกมาได้มากขึ้นหรือไม่ ให้ป้อนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 – 5 วัน หรือ 1 สัปดาห์ แล้วหยุดป้อน และสังเกตอาการต่อหาก อึของกระต่ายที่มีเส้นขนร้อยออกมาหมดไป ก็ให้สบายใจได้ แต่ถ้ายังไม่หมด ถ้าต้องการความสบายใจให้รีบไปปรึกษาแพทย์ดีที่สุด

6.โรคหรือลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างสามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ เช่น ลักษณะฟันยื่น

โรคทางพันธุกรรมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยเหลือหรือรักษาได้ตามอาการของกระต่ายที่เป็น เช่นกระต่ายฟันยื่น ก็สามารถพากระต่ายไปตัดฟันออกให้ฟันสบกันพอที่จะให้กระต่าย ไว้ใช้กัดแทะหรือบดเคี้ยวอาหารได้อย่างสะดวก ส่วนปัญหาคอเอียง หรือขาแป ต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาทางพันธุกรรมหลัก ๆ เกิดจากการนำกระต่ายที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เช่น ปู่ ย่า พ่อ แม่ พี่น้อง มาผสมพันธุ์กันเอง หรือก็เป็นปัญหาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาลักษณะผิดปกติดังเช่นที่ผ่านมาได้เช่นกัน

การป้องกันโรค
ทำได้โดยพยายามลดสาเหตุของโรคให้เหลือน้อยที่สุดได้แก่
1 เลือกชื้อกระต่ายที่แข็งแรงและปลอดโรคมาเลี้ยง
2 ดูแลกระต่ายให้อยู่สภาพที่สบาย สะอาด ได้รับอาหารและน้ำเพียงพอ ไม่ร้อนเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
3 หมั่นตรวจและสังเกตุลักษณะอาการของกระต่ายเป็นประจำ ถ้าพบกระต่ายป่วย ควรแยกไปเลี้ยงในที่เฉพาะและทำการรักษาทันที ถ้าไม่สามารถรักษาได้ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ ส่าหรับกระต่ายตัวอื่นที่ยังไม่ป่วยควรดูแลเป็นพิเศษและทำความสะอาดโรงเรือนให้บ่อยขี้น
4 ไม่ควรใช้ยาเอง ถ้าไม่มีความรู้เพียงพอ ถ้าจะใช้ยาเองควรทำตามคำแนะนำของ สัตวแพทย์ และไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็นเพราะจะทำให้เชื้อโรคตื้อยาได้